มาทำความรู้จักกับไตกันเถอะ

 ไตคืออวัยวะที่ทำหน้าที่ขับสารพิษ และของเสียออกจากร่างกาย โดยกระบวนการออสโมซิสเพื่อนำสารประกอบ และแร่ธาตุที่เกินความจำเป็นออกจาก. ร่างกาย ไตของคนเรามีสองข้าง อยู่บริเวณใกล้กระดูกสันหลัง ด้านหลัง ใต้กระดูกชายโครง คนเรามีไตสองข้างการสูญเสียข้างใดข้างหนึ่งจึงยังคงสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติ แต่หากบุคคลใดที่มีสภาพการทำงานของไตผิดปกติ หรือเสื่อมสภาพลง ทำให้กระบวนการกำจัดสารพิษ ของเสีย ออกจากร่างกายมีปัญหา จึงต้องมีการล้างไตโดยการหมุนเวียนสารละลายเข้าไปละลายเอาของเสียออกจากร่างกาย ผ่านเครื่องไตเทียม หรือการล้างไตผ่านช่องท้อง

 

การปลูกถ่ายไตคืออะไร

การปลูกถ่ายไตคือการบำบัดทดแทนไตในการรักษาภาวะไตวายเรื้อรัง นอกเหนือจากการฟอกเลือดและการล้างไตทางช่องท้อง โดยนำไตที่ยังทำงานดีมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

 

ใครบ้างที่สามารถรับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไตบ้าง

  1. ต้องเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
  2. ต้องไม่มีโรคที่รุนแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด
  3. ต้องไม่เป็นมะเร็งที่ยังรักษาไม่หายขาด
  4. ต้องไม่มีการติดเชื้อที่ยังรักษาไม่หายขาด (ยกเว้นโรคตับอักเสบบีและซี ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าการปลูกถ่ายไตจะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ) และต้องไม่มีการติดเชื้อ HIV
  5. ต้องไม่ป่วยทางจิต
  6. ต้องไม่มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะที่แก้ไขไม่ได้

 

การปลูกถ่ายไตดีกว่าการฟอกเลือดและการล้างไตอย่างไร

ไตที่ได้รับการปลูกถ่ายจะช่วยให้มีการทำงานได้ใกล้เคียงกับไตปกติ มากกว่าฟอกเลือดหรือการล้างไตทางช่องท้องมาก นอกจากนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีสุขภาพแข็งแรงกว่า มีการจำกัดอาหารน้อยกว่า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือดและการล้างไตทางช่องท้อง

 

ไตที่จะปลูกถ่ายได้มากไหนบ้าง

  1. จากผู้บริจาคสมองตาย ซึ่งในทางกฎหมายและทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ไตยังทำงานได้ดี โดยต้องได้รับความยินยอมจากญาติสนิท โดยผ่านการบริจาคให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยเป็นผู้จัดสรรให้กับผู้รอรับไตอย่างเป็นธรรม
  2. จากผู้บริจาคมีชีวิต ตามหลักเกณฑ์ที่ระบุตามกฎหมาย ผู้บริจาคไตต้องเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือเป็นสามีภรรยาที่แต่งงาน หรืออยู่ด้วยกันมากกว่า 3 ปี ยกเว้นมีบุตรด้วยกันก็ไม่จำเป็นต้องรอจนครบ 3 ปี

 

บริจาคไตแล้วเหลือไตข้างเดียว จะเป็นอย่างไร

แพทย์จะทำการตรวจสุขภาพผู้บริจาคไตเพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริจาคไตมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ โดยเมื่อบริจาคไตแล้วไตอีกข้างที่มีอยู่สามารถทำงานทดแทนไตที่บริจาคได้ อนึ่งผู้บริจาคอวัยวะจะต้องเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ และไม่ควรมีอายุมากกว่า 60 ปี

 

จะปลูกถ่ายไต ต้องไปติดต่อที่โรคพยาบาลใด

โรงพยาบาลที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตต้องได้รับการรับรองจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย โดยสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ www.organdonate.in.th และ www.transplantthai.org
หรืออาจสอบถามจาก แพทย์ที่ดูแลด้านโรคไตเพื่อขอข้อมูลเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจลงทะเบียนรอรับการปลูกถ่ายไต

 

ต้องรอนานหรือไม่ที่จะได้รับการปลูกถ่ายไต

ในผู้ป่วยที่รับการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคมีชีวิต จะใช้เวลาในการรอการปลูกถ่ายไตไม่นาน โดยเมื่อมีการประเมินความพร้อมของผู้บริจาคไต การเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ ตลอดจนผู้รับไตมีสุขภาพแข็งแรงดีพอก็สามารถปลูกถ่ายไตได้

ในผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคสมองตาย ชื่อของท่านจะถูกลงทะเบียนไว้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะจะมีเกณฑ์การจัดสรรไตอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในปัจจุบันมีผู้รอรับการปลูกถ่ายไตเป็นจำนวนมาก จึงใช้เวลาในการรอนานกว่าการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคมีชีวิต

 

ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลหรือไม่

ปัจจุบันสิทธิการรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ประกันสังคม และประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้การครอบคลุมสิทธิในการปลูกถ่ายอวัยวะ ตามหลักเกณฑ์ที่แต่ละกองทุนได้ระบุไว้

 

ลักษณะและหน้าที่ของไต

ไต เป็นอวัยวะรูปร่างคล้ายถั่วเหลือง อยู่บริเวณบั้นเอวข้างกระดูกสันหลัง 2 ข้าง มีหน้าที่สำคัญ ดังนี้

  • ขับถ่ายของเสีย ยา หรือสารแปลกปลอมต่างๆ ออกทางปัสสาวะ
  • รักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่ กรด และด่างของร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ
  • ควบคุมความดันโลหิต
  • สร้างสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
  • เปลี่ยนวิตามินดีที่ได้รับให้มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างกระดูก

 

การดูแลรักษาไตให้แข็งแรง

  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับของสารก่อนิ่วในปัสสาวะสูงเกินไป หรือถ้าเป็นก้อนเล็กๆ ก็จะหลุดออกมาเองได้
  • อย่ากลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ระวังอย่าให้ท้องผูก
  • ไม่ควรกินอาหารเค็มเกินไป เพราะจะทำให้เกิดน้ำคั่ง แล้วทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ทำให้ไตทำงานหนัก
  • ถ้าเป็นโรคเบาหวานอยู่แลัว ต้องควบคุมมิให้น้ำตาลในเลือดสูงเกินไป
  • รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดนิ่ว
  • ดูแลทำความสะอาดหลังการปัสสาวะ และอุจจาระทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อทางระบบทางเดินปัสสาวะ

 

โรคที่เกี่ยวกับไต

  • โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  • โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • โรคไตที่เกิดจากเบาหวาน
  • เนื้องอกของไต

 

การปลูกถ่ายไต

เป็นการเอาไตใหม่ที่ดีมาใส่ให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่รอการปลูกถ่ายไต แต่ด้วยปัญหาการขาดแคลนอวัยวะ ทำให้มีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตมีไม่มากนัก ผลการปลูกถ่ายไตอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ไตใหม่สามารถทำหน้าที่ปกติใน 1 ปี ประมาณร้อยละ 85

 

ไตใหม่ได้มาจากไหน

  • จากญาติร่วมสายเลือดกัน อาจเป็นพี่น้อง พ่อแม่ หรือลูกที่เต็มใจบริจาคไตข้างหนึ่งให้ผู้ป่วย
  • จากผู้เสียชีวิตโดยภาวะสมองตาย โดยผู้ตายได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้ก่อนตาย หรือได้รับความยินยอมจากญาติ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการทำบุญกุศลครั้งยิ่งใหญ่

 

ผู้ที่รอรับไต

จะต้องมีหมู่เลือดเดียวกับผู้บริจาค และต้องมีการตรวจการเข้ากันได้ของเนี้อเยื่อด้วย